หน้าเว็บ

ตำนานบัวหลวง ถิ่นรวงข้าว

ตำนานบัวหลวง ถิ่นรวงข้าว

จังหวัด ปทุมธานี ได้ชื่อนี้เพราะเป็นถิ่นมี บัว เป็นจำนวนมากหลากหลายสายพันธุ์ มองออกไปทางหน้าต่างรถไฟสายเหนือที่ออกจากกรุงเทพฯพอเห็นทุ่งดอกบัวสองข้างทางก็รู้ว่าเข้าเขตจังหวัดปทุมธานี นอกจากบัวก็ยังมีพืชพันธุ์เกษตรประเภทข้าวที่มีชื่อเสียง ข้าวหอมปทุมธานี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ข้าวหอมปทุมฯ เป็นพันธุ์ข้าวหอมที่เมื่อหุงเสร็จจะมีกลิ่นหอมธรรมชาติ (ขึ้นอยู่กับข้าวเก่าหรือข้าวใหม่) มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ถึงขนาดที่ว่าข้าวหอมปทุมฯ ที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ประกาศต้องประทับข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า Thai Pathumthani Fragrant Rice เพื่อบ่งบอกคุณภาพ มีให้เลือกทั้งแบบข้าวขาวและข้าวกล้อง เคล็ดลับเวลาหุงก็หุงตามปกติด้วยสัดส่วนระหว่างข้าวและน้ำ 1:1 ไม่ต้องใส่น้ำเผื่อ ถ้าใส่น้ำเผื่อ ข้าวจะแฉะ เมื่อหุงสุกเป็น 'ข้าวสวย' เมล็ดข้าวจะสวยและอ่อนนุ่ม นอกจากหุงเป็นข้าวสวย รับประทานร่วมกับสำรับกับข้าวตามปกติแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้นำข้าวหอมปทุมฯ มาประยุกต์ให้รับประทานได้หลากหลายขึ้น เรียกเมนูนี้ว่า ข้าวคลุกน้ำพริก 4 ภาค โดยแทรกวิธีเพิ่มคุณค่าสารอาหารเข้าไปด้วย เวลากินก็แนมด้วยผักลวกผักสดตามชอบเหมือนปกติ ยิ่งถ้าได้ผักท้องถิ่นมาแนมยิ่งได้รสชาติความอร่อยอ.พงษ์ศักดิ์ เลือก น้ำพริกอ่อง เป็นตัวแทนน้ำพริกภาคเหนือสำหรับใช้ปรุงเมนูข้าวคลุกน้ำพริก 4 ภาคตำรับนี้ โดยนำข้าวหอมปทุมฯ หุงกับน้ำใบเตยเพื่อเพิ่มคุณค่าสมุนไพรแล้วจึงนำมาคลุกกับน้ำพริกอ่อง ใบเตยมีสีเขียวมีสารคลอโรฟิลล์ช่วยลดอาการกระหายน้ำและชุ่มชื่นคอ ส่วนน้ำพริกอ่องก็มีมะเขือเทศเป็นหลัก เป็นแหล่งของวิตามินเอ ซี บี เกลือแร่ ช่วยให้ตับทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะไลโคพีนช่วยให้ผิวพรรณมีสุขภาพดีเลือก น้ำพริกปลาร้า เป็นตัวแทนภาคอีสาน โดยหุงข้าวหอมปทุมฯ กับน้ำดอกอัญชันก่อนคลุกกับน้ำพริกปลาร้า ดอกอัญชันมีสารแอนโธไซยานิน มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิต้านทาน เพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือดเล็ก เช่น หลอดเลือดส่วนปลาย ทำให้กลไกที่ทำงานเกี่ยวกับการมองเห็นแข็งแรงขึ้น ส่วนข้าวคลุกน้ำพริกภาคกลางใช้ ข้าวกล้องงอกปทุมฯ คลุกกับ น้ำพริกเผา ซึ่งมีส่วนผสมหลักคือ หอม กระเทียม พริก ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณทางสมุนไพร เช่น พริกช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด สารแคปไซซินในพริกช่วยลดน้ำมูก เบตาแคโรทีนในพริกช่วยป้องกันการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุผนังช่องปาก จมูก ลำคอ ปอด หัวหอมมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วย ไดอัลลินไตรซัลไฟด์ ชนิดเดียวกับกระเทียม และมีฟลาโวนอยด์ ไกลโคไซด์ เพคติน สารเหล่านี้มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ลดไขมันในเส้นเลือดและช่วยย่อยอาหาร นอกจากนี้ในหัวหอมยังมีฟอสฟอรัสปริมาณสูงช่วยในเรื่องความจำภาคใต้ อ.พงษ์ศักดิ์ หุงข้าวหอมปทุมฯ กับขมิ้นแล้วคลุกกับ น้ำพริกไตปลา รสชาติเผ็ดร้อน ขมิ้นมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิด แก้โรคกระเพาะ-อาการท้องอืด ส่วนพริกขี้หนูที่ใช้ในการทำน้ำพริกไตปลาก็มีสรรพคุณทางยาแก้คลื่นไส้อาเจียน แก้โรคบิด เม็ดพริกมีสารสามารถทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดไหลเวียนดีขึ้น แต่ระวังสำหรับผู้เป็นโรคเกี่ยวกับตาหรือผู้ป่วยอาการเจ็บคอ ไอ คอแห้ง ไม่ควรรับประทานพริกขี้หนูจำนวนมากสังเกตว่าวัยรุ่นไทยยุคนี้มักเห็นข้าวสวยเป็นอาหารธรรมดา นิยมหันไปรับประทานอาหารต่างประเทศ ซึ่งบ่อยครั้งมีคุณค่าทางอาหารน้อย อ.พงษ์ศักดิ์จึงได้ลองสร้างสรรค์นำข้าวหอมปทุมฯ มาหุงกับพืชพันธุ์ที่ให้สีและคลุกกับน้ำพริกเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อมขึ้น ไม่จัดจ้านและช่วยลดกลิ่นน้ำพริก จัดทำให้เป็นคำๆ คล้ายอาหารญี่ปุ่น เพื่อดึงความสนใจของเด็กไทยรุ่นใหม่ให้กลับมานิยมรับประทานน้ำพริกซึ่งมีสรรพคุณทางยาและเป็นอาหารพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยมากขึ้นมาถึง บัว ที่มีมากมายในจังหวัดปทุมธานี นอกจากที่นำ 'สายบัว' มาแกงกับปลาทูหรือนำมาผัดกับกุ้งหรือเนื้อหมูที่หลายคนคุ้นเคย อ.พงษ์ศักดิ์จึงลองประยุกต์นำบัวมาทำอาหารอย่างอื่นเพิ่มเติม โดยเลือกนำส่วนต่างๆ ของ บัวหลวงพระราชินี มาปรุงเป็นของกินได้อีกหลายชนิด เช่น เค้กเกสรบัว ค่อยๆ แกะเกสรจากดอกบัวนำไปตากแห้ง จากนั้นก็ผสมเข้ากับแป้งเค้กที่มีส่วนผสมของไข่ไก่ น้ำตาลทราย และเนย แล้วนำไปอบตามปกติก็จะได้ขนมเค้กที่มีส่วนผสมของเกสรบัวในตัวเนื้อเค้กและมีกลิ่นหอมของเกสรบัว แบ่งเกสรบัวตากแห้งส่วนหนึ่งไว้คลุกกับน้ำผึ้งใช้เป็นเครื่องแต่งหน้าเค้กเกสรบัวให้กลิ่นหอมเย็น รสฝาดนิดๆ ตัดความหวานของเนื้อขนมเค้ก ตำราว่ามีสรรพคุณแก้ไข้ แก้อ่อนเพลีย ใช้ปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ-ประสาท ชูกำลังให้ชุ่มชื่นขนมฝรั่งอีกชนิดที่นิยมรับประทานคู่น้ำชาก็สามารถทำได้จากบัว เช่น พายรากบัว นำรากบัวมาหั่นแล้วต้มให้สุก ผสมกับนมสดและน้ำตาลทรายแดง ทำเป็นไส้ของขนมพาย เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การใช้รากบัวอายุ 3-5 ปี จะอร่อยกว่าการใช้รากบัวที่อายุน้อยกว่านี้ซึ่งเรียกว่า ไหลบัว นิยมนำไปแกงมากกว่า ชาวสวนบัวในปทุมธานีทราบดีว่าบัวที่ปลูกไว้อายุเท่าใดแน่แม้กระทั่งน้ำชาก็มี ชาเกสรบัว ชานี้ประกอบด้วยเกสรดอกไม้ 5 ชนิด คือ บัวหลวง มะลิ พิกุล บุนนาค สารภี โดยนำเกสรบัวหลวงมาอบหรือคั่ว หรือนำไปตากแห้งไว้ก่อนก็ได้ วิธีทำน้ำชาให้ต้มน้ำจนเดือดแล้วยกลง หยิบชาเกสรบัวหนึ่งหยิบมือใส่ลงในถ้วยน้ำร้อน ปิดฝาไว้ 5 นาทีแล้วจึงเสิร์ฟ เป็นสูตรของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูรินทร์ อัครกุลธร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งกล่าวว่าเกสรของดอกไม้เหล่านี้ตามตำราใช้เป็นยาโบราณอยู่แล้ว เกสรบัวหลวงมีสารประกอบทางเคมีตามธรรมชาติ 'อัลคาลอยด์' มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและบำรุงหัวใจ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุสนใจชิมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องดื่มจากข้าวและบัวของจังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 22-31 พฤษภาคมนี้ เหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี หน่วยงานราชการ สถาบันองค์กรต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี และศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ได้ร่วมกันจัดงาน กาชาดและของดีจังหวัดปทุมธานี บัวหลวงรวงข้าวไสว ปทุมน้อมใจ เทิดไท้องค์ภูมิพล มีการนำบัวและข้าวหอมปทุมฯ ผลผลิตเลื่องชื่อของจังหวัดปทุมธานี มาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน เช่น วุ้นน้ำข้าวกล้องงอก เม็ดขนุนข้าวกล้องงอก คุกกี้เม็ดบัว ข้าวม้วนรสลาบ รวมทั้ง ข้าวคลุกน้ำพริก 4 ภาค พายรากบัว เค้กเกสรบัวหลวงพระราชินีนอกจากนี้ สารสกัดจากรวงข้าว ยังสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสม ของผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอางได้เช่นกัน เช่นทำเป็นแชมพูสระผม ครีมนวดผม โลชั่นบำรุงผิว สบู่เหลว มีจำหน่ายในงานนี้เช่นกันที่บริเวณ Cascata ชั้น G และบริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต (ฝั่งโรบินสัน)ในงานยังมีสินค้าหัตถกรรม-อุตสาหกรรม พืชพันธุ์ไม้ บัวหลายสายพันธุ์ให้เลือกซื้อเลือกชมอีกมากมาย โดยเฉพาะ จงกลนี บัวไทยแท้หายาก มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พบในประเทศไทยที่เดียวในโลก ดอกสีชมพูอ่อน ลักษณะเฉพาะตัวคือมีกลีบดอกเป็นจำนวนมาก เมื่อบานแล้วไม่หุบ ดอกบานนานถึง 5 วัน วันแรกดอกเป็นสีชมพู สีจะซีดลงในวันที่สองและสาม วันต่อไปจะเป็นสีขาวและมีสีเขียวแซมบ้างเมื่อใกล้โรย ปัจจุบันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากธรรมชาติไม่สมดุล

เกสรสีเหลืองทองของบัวหลวงพระราชินี

บัวหลวงพระราชินีขณะดอกตูม - จงกลนี

เมนูข้าวหอมปทุมฯ คลุกน้ำพริก 4 ภาค (จากแถวบน) ข้าวหุงดอกน้ำอัญชันคลุกน้ำพริกปลาร้า ข้าวหุงน้ำใบเตยคลุกน้ำพริกอ่อง ผักท้องถิ่นประจำภาคนานาชนิดข้าวกล้องงอกปทุมฯ คลุกน้ำพริกเผา และข้าวหุงขมิ้นคลุกน้ำพริกไตปลา

เม็ดขนุนข้าวกล้องงอก - วุ้นข้าวกล้องงอก

พายรากบัว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม และเค้กเกสรบัว


http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/travel/20090527/43657/ตำนานบัวหลวง-ถิ่นรวงข้าว.html
เขียนโดย sundara