หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในมหามงคลวโรกาสที่ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2539 กรมศิลปากรได้ทำการจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ขึ้น เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นสิ่งอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติ ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 720.4 ล้านบาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช"
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตั้งอยู่บนพื้นที่ 75 ไร่ อาคารก่อสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สมัยรัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่ ณ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีลักษณะเป็นกลุ่มอาคาร 4 ส่วน มีทางเชื่อมและลานเอนกประสงค์รวมพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย
อาคารส่วนที่ 1 อาคารเก็บเอกสารจดหมายเหตุ เป็นอาคาร 9 ชั้น มีพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร
อาคารส่วนที่ 2 อาคารให้บริการค้นคว้า มีพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร
อาคารส่วนที่ 3-4 อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริมีพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร
ลานเอนกประสงค์ เป็นส่วนจัดกิจกรรม มีพื้นที่ 3,500 ตารางเมตร อาคารทั้ง 4 อาคารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแห่งนี้ ทางกรมศิลปากรต้องการให้เป็นหอสมุดจดหมายเหตุแห่งชาติที่สมบูรณ์ที่สุด ในการเก็บรวบรวมเอกสารสำคัญของชาติเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยให้แก่หน่วยงานราชการ เอกชน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป อำนวยประโยชน์ในการรวบรวมจัดเก็บจัดแสดง ให้บริการสืบค้นและอนุรักษ์เอกสารที่เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ อาทิ พระราชหัตถเลขา พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชนิพนธ์ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ พระบรมฉายาลักษณ์ แถบบันทึกพระสุรเสียง ฯลฯ ตลอดจนเอกสารการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระ
ราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติต่างๆ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ให้ความรู้ และให้เยาวชนรุ่นหลังได้ซาบซึ้งถึงพระปรีชาสามารถในการปกครองแผ่นดิน รวมไปถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์
ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. การค้นภาพ, จดหมายเหตุ, เข้าชมเป็นหมู่คณะควร
ติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม โทร. 0 2902 7940 ต่อ 111, 113